หน่วยที่ 3 เสื้อผ้า และเครื่องแต่งกาย

หน่วยที่ 3 เสื้อผ้า และเครื่องแต่งกาย

1. ความหมายของเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย
ผ้า คือ สิ่งที่ทอด้วยเส้นใยใช้เป็นเครื่องนุ่งห่มเพราะฉะนั้นเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายจึง หมายถึงการใช้สิ่งทอด้วยเส้นใยมาผลิตเป็นรูปแบบต่างๆ ตามความต้องการ
2. ความสำคัญและประโยชน์ของเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย
ความสำคัญของการแต่งกายสามารถบอกถึงค่านิยมและการเสริมสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัวของชนชาตินั้นๆ
ประโยชน์ของเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย เพื่อป้องกันความร้อนหนาว บ่งบอกถึงฐานะทางเศรษฐกิจ บ่งบอกอาชีพของผู้สวมใส่ ตลอดจนเสริมสร้างบุคลิกภาพและสะท้อนวัฒนธรรมเฉพาะกลุ่มให้สง่างามถูกกาลเทศะ
3. การเลือกซื้อผ้า
การเลือกซื้อผ้ามีความสำคัญ เพราะถ้าได้ผ้าที่เหมาะสมกับแบบตัดเหมาะกับบุคลิกของผู้ใช้ สถานที่และโอกาส ผ้ามีความสำคัญเพราะจะทำให้ผู้สวมใส่ดูดีขึ้นในขณะเดียวกันก็อาจจะทำให้ผู้สวมใส่ดูแย่ลงถึงแม้ว่าผ้านั้นจะราคาแพงก็ตาม เนื้อผ้าสีของผ้า ลวดลายผ้าช่วยทำให้เสื้อ กางเกงและกระโปรงดูมีราคา ถ้าเลือกแบบได้เหมาะสมกับผ้า ผสมกับการตัดเย็บด้วยฝีมือประณีต ชวนให้สวมใส่และใช้ได้นาน หลายโอกาส ไม่เบื่อง่าย
3.1 การเลือกซื้อผ้าสำหรับสวมใส่
3.1.1. เลือกคุณสมบัติของผ้าตามวัตถุประสงค์ที่ต้องใช้ เช่น เสื้อผ้าใส่ทำงาน
เครื่องแบบนักเรียน เสื้อผ้าใส่ลำลองอยู่ในบ้าน เหล่านี้ควรเลือกผ้าที่เหมาะสม ไม่เทอะทะหรือเบาบางจนเห็นชั้นใน
3.1.2. ศึกษาข้อความที่เขียนติดมากับผ้าและริมผ้าอย่างละเอียด ถ้าหน้าผ้าหรือริมผู้เขียนไว้ว่าผ้าฝ้าย หรือ Cotton 65 % หมายความว่าผ้าชิ้นนั้นมีคุณสมบัติของผ้าฝ้ายมากกว่าเทโทรร่อน ดังนั้นผ้าชิ้นนี้จะสวมใส่สบาย ไม่ยับมากและรีดแต่น้อย หรือข้อความเขียนบอกว่าเป็นผ้าเรยอน 100% ซึ่งหมายความว่าผ้าชิ้นนั้นเป็นผ้าเรยอนล้วน ซึ่งเมื่อยังใหม่สามารถจับต้องหรือมองดูสวยงามน่าใช้แต่พอนำมาตัดเย็บจะยับมาก เวลาซักถ้าขยี้ไปมาจะขาด ทั้งนี้เพราะคุณลักษณะของผ้าเรยอนเป็นเช่นนั้น
3.1.3. สังเกตด้วยตาและการจับต้อง ผ้าทอเนื้อดีเส้นด้ายยืนและเส้นด้ายพุ่งจะตัดกันเป็นมุมฉาก ถ้าเส้นด้ายทั้งสองโย้เย้หรือรวนเป็นผ้าที่คุณภาพต่ำ หรือด้อยจะตัดเย็บลำบาก ผ้าที่ทอด้วยมือ เช่น ผ้าไหมไทย ถ้านำมาส่องทวนแสงดูจะมองเห็นฝีมือการทอถี่ห่างไม่เสมอกันเป็นเพราะฟันหวีกระทบด้ายพุ่งไม่เสมอ แสดงว่าเป็นผ้าที่มีคุณภาพด้อย
การจับต้องผ้า เช่น กำผ้าเพื่อทดสอบการยับ ถ้ากำแล้วผ้าไม่คลายตัว และคงรอยยับเป็นเส้นอยู่อย่างนั้นแสดงว่าไม่ทนยับและต้องการรีดหรือขยี้ผ้าเพื่อดูว่ามีการเพิ่มเนื้อ เช่น ตกแต่งเนื้อผ้าด้วยการลงแป้งหรือไม่
ดังนั้นเพื่อให้ได้ผ้าตรงกับประโยชน์ใช้สอย จึงควรเลือกซื้อตามความรู้สึก จากการสังเกตด้วยตาหรือจากการจับต้องให้ตรงกัน เช่น การเลือกซื้อผ้าตัดชุดนอน ควรเลือกผ้าเนื้ออ่อนนุ่ม ทนยับ เป็นต้น
3.1.4. กะปริมาณของผ้าให้พอดีกับงานที่ใช้ ให้เกินได้บ้างเล็กน้อย แต่อย่าให้ขาดต้องศึกษาและรู้จักความกว้างของหน้าผ้าที่ขายในท้องตลาด เพื่อจะเปรียบเทียบราคากับจำนวนผ้าที่ซื้อ เช่น ผ้าฝ้ายที่ตกแต่งให้มีคุณสมบัติคล้ายลินินหน้ากว้าง 36 นิ้ว ราคาเมตรละ 80 บาท ถ้าต้องการตัดกระโปรง 1 ตัว จะต้องซื้อสองเท่าของความยาวซึ่งราคาอาจแพงกว่าซื้อผ้าอย่างเดียวกัน แต่หนากว่าเล็กน้อยและกว้าง 60 นิ้ว เพราะซื้อเพียงเท่าเดียวของความยาว เป็นต้น
3.1.5. โอกาสใช้สอย พิจารณาให้เหมาะสมกับประโยชน์ใช้สอย และงบประมาณที่มีถ้าหากมีงบประมาณจำกัด ควรเลือกผ้าที่เป็นกลาง ๆ ไม่แสดงถึงโอกาสใช้สอยให้เห็นเด่นชัด เช่น เสื้อคอกลมผ้ากำมะหยี่ไม่เหมาะสมที่จะใช้เวลากลางวัน ควรใช้ผ้าอื่นที่ไม่จำกัดโอกาสเช่น ผ้าฝ้ายปนใยสังเคราะห์ หรือผ้าป๊อบปลิน ซึ่งใช้ได้ทุกโอกาส
3.1.6. ความทนทาน เลือกเนื้อผ้าให้เหมาะสมกับระยะเวลาที่จะใช้ผ้าบางชนิดทอเนื้อหลวม ลุ่ยง่าย สีซีดเร็วใช้ไม่กี่ครั้งก็เก่า แม้จะราคาถูกแต่เมื่อเอาจำนวนครั้งที่ใช้หารกับราคาผ้าแล้วมักแพงกว่าผ้าเนื้อดีราคาสูง ดังนั้นจึงควรเลือกผ้าเนื้อดีและทนทานเพื่อให้ใช้ได้นาน และเลือกเนื้อผ้าพอใช้ได้สำหรับที่จะใช้เพียงชั่วคราว
3.1.7. ความสบาย การเลือกซื้อผ้าไม่ควรคิดถึงความสวยเพียงอย่างเดียว เพราะเสื้อผ้าที่สวยบางชนิดสวมแล้ว ทำให้รู้สึกไม่สบายกาย ร้อน อึดอัด และเป็นผื่นคันได้ ดังนั้นจึงต้องคำนึงถึงเมื่อตัดสวมใส่แล้วมีความสบายทั้งกายและใจ สบายกายคือไม่ร้อน ไม่อึดอัด ไม่คัน สบายใจคือไม่กระดากว่าเสื้อผ้าที่สวมอยู่ทำให้คนมองอย่างที่ไม่ต้องการให้มอง เช่น สีสัน และลวดลายแปลกจากธรรมดาไม่เข้ากับลักษณะของผู้สวม
3.1.8. ความสวยงาม ความเหมาะสมกับรูปร่าง ผิวพรรณลักษณะ ท่าทาง และกิริยาของผู้สวมใส่ เช่น คนที่มีลักษณะอ่อนโยนนุ่มนวล ควรสวมเสื้อผ้าที่มีลวดลายกระจุ๋มกระจิ๋ม หรือลวดลายในตัว ผู้ที่มีข้อบกพร่องบางอย่างในร่างกายควรจะพรางได้ด้วยการสวมเสื้อผ้า เช่น สะโพกใหญ่มากไม่ควรเลือกผ้าตัดกระโปรงที่มีสีอ่อนเนื้อบางเบา
3.1.9. ความทันสมัย ลวดลายผ้าและเนื้อผ้า ย่อมเป็นที่นิยมกันเป็นช่วงเวลาหนึ่ง ผ้าชนิดที่มีอยู่ในระยะเวลาอันสั้นเมื่อนำมาตัดเสื้อผ้าก็ใช้ได้ไม่กี่ครั้ง แม้จะยังดีอยู่ก็ไม่สามารถใช้ได้อีกต่อไป ซึ่งเป็นการใช้เงินไม่คุ้มค่าฉะนั้นควรเลือกใช้ผ้าลวดลายและเนื้อผ้าชนิดที่ใช้ได้นานกว่าผ้าที่ตามสมัยนิยม
3.2.0. งบประมาณ แม้จะไม่รู้ราคาผ้า ก็ควรคิดไว้ก่อนว่าจะเลือกผ้าในวงเงินเท่าใด ถ้ามีทุนทรัพย์จำกัดควรเลือกผ้าราคาแพงในจำนวนพวกผ้าราคาถูก อย่าเลือกผ้าราคาถูกในจำพวกผ้าราคาแพง เช่น ผ้าฝ้ายมีราคาไม่แตกต่างกันมากนักจากเมตรละ 20 กว่าบาท ถึง 90 – 100 บาท ถ้าซื้อผ้าฝ้ายราคา 50 บาท นับว่าราคาแพงในจำนวนผ้าราคาถูก ผ้าลูกไม้มีราคาตั้งแต่ยี่สิบกว่าบาทไปจนถึงหลายพันบาท นับว่าเป็นผ้าที่มีราคาแพงมากถ้าซื้อผ้าลูกไม้ราคาเมตรละ 100 บาท ถือว่าได้ผ้าราคาถูกในจำนวนผ้าราคาแพง
3.2.1. แหล่งผลิต ควรพิจารณาเลือกซื้อของที่ผลิตได้ในประเทศเป็นอันดับแรก และหลีกเลี่ยงการซื้อผ้าที่หาข้อมูลแหล่งผลิตไม่ได้ เพราะผู้ผลิตมักไม่ยอมบอกความจริงทั้ง ๆ ที่ปัจจุบันผ้าแทบทุกชนิดผลิตขึ้นเองในประเทศทั้งนี้เพื่อให้ผู้ซื้อเข้าใจผิดว่าเป็นผ้าที่สั่งมาจากต่างประเทศจึงทำให้ราคาสูง ดังนั้นจึงควรเปลี่ยนค่านิยมเสียใหม่ คือ เลือกซื้อแต่ผ้าที่ผลิตจากภายในประเทศ
ข้อคิดในการเลือกซื้อเสื้อผ้า
1. คุ้มเงินหรือเปล่า?
2. มั่นใจแค่ไหน?
3. เคยมีแล้วหรือยัง?
4. จะเอาไปใส่ที่ไหนได้บ้าง?
5. จะใส่เข้ากับชุดไหนได้บ้าง?
6. ต้องดูแลรักษามากหรือเปล่า?
4. เทคนิคในการแต่งตัว
เสื้อ
: เสื้อแขนกุด ไม่เหมาะกับคนอวบอ้วน
: เสื้อคอวี เหมาะกับคนที่ศีรษะโต หรือช่วงคอสั้น
: เสื้อลายทางยาวๆ ช่วยพรางหุ่นอวบอ้วนให้เพรียวขึ้น
: เสื้อเชิ้ต ช่วยให้ดูเป็นผู้หญิงทำงานที่ปราดเปรียวขึ้น
กระโปรง
: สะโพกใหญ่ ควรสวมกระโปรงยาวระดับหัวเข่า เข้ารูป ไม่ต้องบานนัก
: หน้าท้องยื่น ควรปิดด้วยกระโปรงเข้ม ทรงสอบๆ ตรงๆ
: เสริมช่วงขาให้ดูยาวขึ้น ด้วยกระโปรงสั้นๆ เหนือเข่า
: ขาเล็กเกินไป ไม่ควรสวมกระโปรงสอบๆ ควรนุ่งกระโปรงบานย้วย
กางเกง
: ถ้าอ้วนไม่ควรใส่กางเกงเอวรูด จะยิ่งดูอ้วนขึ้น
: อยากหุ่นเพรียว ควรใส่กางเกงเข้ารูป ไม่ใช่กางเกงหลวมโพร่ง
: ถ้าไม่มีก้น ควรเลือกกางเกงลายๆ และไม่รัดรูปนัก
: ต้องการพรางบั้นท้าย เลือกกางเกงที่มีกระเป๋าด้านหลัง

ตัวอย่างงาน
การดัดแปลงเสื้อผ้า  https://youtu.be/d5tL0AjkYCY
    Blogger Comment
    Facebook Comment

0 ความคิดเห็น:

ผลงานนักเรียน